ผลิตไฟฟ้า 200 วัตต์ต่อวัน : กุฏิกินแดด บ้านกินแดด บ้านโซล่าเซลล์ ระบบ 12 โวลต์


ถ้าเจ้าผลิตได้ ๑๒ โวลต์ เจ้าเก็บไว้ได้เป็น ๑๒ โวลต์ เจ้าก็จงใช้แค่ ๑๒ โวลต์ มิพักต้องแปลงเป็น ๒๒๐ โวลต์ -โธมัน เอดิสัน ไม่ได้กล่าวไว้

ทุกวันนี้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทางเลือก เป็นเรื่องที่น่าศึกษาเพื่อให้เราทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้มากยิ่งๆ ขึ้นไป เรื่องราวของพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซล่าเซลล์ ก็เป็นที่นิยมมากขึ้น มีราคาที่ถูกลง หาซื้อได้ไม่ยาก

วันนี้จะเขียนเรื่องของระบบโซล่าเซลล์เล็กๆ ที่ทดลองและใช้อยู่ด้วยตนเองจนเป็นที่น่าพอใจ


ส่วนประกอบที่สำคัญๆ ของระบบ


๑. แผงโซล่าเซลล์ ขนาด ๔๐ วัตต์ฺ ๑ แผง ติดตั้งอย่างง่ายๆ บนหลังคากระเบื้อง โดยการคลายน๊อตยึดกระเบื้องออกเล็กน้อย แล้วใช้สายไฟมัดแผงเข้ากับน๊อตกระเบื้องนั้น พยายามหามุมองศาที่รับแดดได้ดีทุกฤดู ตามทฤษฎีแล้ว ในประเทศไทย แผงควรหันไปทางทิศใต้ และทำมุมประมาณ ๑๕ องศากับพื้น

แผงโซล่าเซลล์
๒. คอนโทรลชาร์จเจอร์ ขนาด ๑๐ แอมป์ ๑๒ โวลต์ ทำหน้าที่ควบคุมการชาร์จและการใช้ไฟ รุ่นนี้สามารถใช้ตั้งเวลาเปิดปิดไฟในเวลากลางคืนได้ โดยหลักการทำงานคือถ้าแผงโซล่าฯ สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพราะมีแสงพอ ระบบจะไม่จ่ายไฟไปใช้งาน เมื่อแผงโซล่าฯ ไม่ได้รับแสงแล้ว (กลางคืน) ระบบจะจ่ายไฟไปใช้งาน ซึ่งเราสามารถจะเลือกใช้คุณสมบัตินี้ หรือว่าจะกำหนดให้จ่ายไฟตลอด เปิด-ปิด ตามใจเราก็ได้ ตั้งค่าได้หลายรูปแบบ
คอนโทรลชาร์จเจอร์
๓. แบตเตอรี่ ๑๒ โวลต์ ๔๕ แอมป์ชั่วโมง เป็นตัวสำคัญที่จะเก็บไฟฟ้าไว้ให้เราใช้งาน ควรเลือกใช้แบบดีฟไซเคิล ที่สามารถทนทานต่อการใช้งานในรูปแบบของการต้องจ่ายไฟเรื่อยๆ ต่อเนื่อง ถ้าเป็นแบตรถยนต์ก็พอใช้ได้ แต่ลองแล้ว ผลคือแบตเสียเร็ว แบตรถยนต์จะดีในรูปแบบที่จ่ายไฟเยอะๆ แต่ไม่ต่อเนื่อง
แบตเตอรี่ อยู่ในกล่องที่ประดิษฐ์ขึ้นตามความต้องการของเราเอง
๔. อุปกรณ์อื่นๆ ในระบบนี้ประกอบด้วย
     ๔.๑ ฟิวส์ ใช้ฟิวส์แบบที่ใช้ในรถยนต์ ๑๒ โวลต์ ๑๐ แอมป์ ต่อระหว่าง + ของแบต กับ + ของ คอนโทรลชาร์จเจอร์
     ๔.๒ โวลต์มิเตอร์ ช่วยให้ทราบถึงสุขภาพของระบบได้คร่าวๆ ต่อเข้ากับ + - ของแบต ในที่นี้ต่อร่วมสายกับสายจากแบตเข้าคอนโทรลชาร์จเจอร์
ฟิวส์ และโวล์ตมิเตอร์
     ๔.๓ ปลั๊ก เพื่อให้นำไฟฟ้าไปใช้ได้ง่ายๆ จึงเพื่อมปลั๊กเข้าไป สำคัญมากคือต้องทำเครื่องหมายไว้ด้วยว่าฝั่งไหน + ฝั่งไหน - เพราะระบบนี้เป็นระบบกระแสตรง จำเป็นต้องต่อให้ถูกขั้ว วิธีการง่ายๆ คือใช้ปากกาเขียนแผ่นซีดีเลือกเอาสีแดงมาระบายสีรูปลั๊กฝั่งที่เป็น +
ปลั๊กที่ทำเครื่องหมายขั้ว + แล้ว
๕. โหลด คือเครื่องไฟฟ้าที่เรานำมาใช้งาน ในระบบนี้เราใช้กับไฟแสงสว่างจำนวน ๒ ดวง เป็นหลอด LED ๑๒ โวลต์ ดวงละ ๙ วัตต์ ดวงหนึ่งเป็นหลอดกลม อีกดวงเป็นแบบแถวยาวคล้ายไฟนีออน นำมาต่อพ่วงกันเข้าแล้วต่อปลายสายเข้ากับปลั๊กตัวผู้ อย่าลืมทำเครื่องหมายฝั่ง + ด้วย และสำคัญเวลานำไปเสียบใช้ต้องเสียบให้ถูก + เข้า + - เข้า -

หลอดไฟ LED ๑๒ โวลต์ แบบกลม
หลอดไฟ lED ๑๒ โวลต์ แบบแถวยาว
การต่อปลั๊กจากหลอดไฟมาต้องให้ถูกขั้ว

การใช้งาน ระบบนี้ออกแบบมาให้เป็นไฟแสงสว่างในเวลากลางคืนศาลาหลวงตาชีปะขาวที่ไม่ได้ต่อไฟฟ้าไปใช้งาน ตั้งค่าที่คอนโทรลชาร์จเจอร์ให้จ่ายไฟให้หลอดไฟเฉพาะเวลากลางคืน กลางวันเป็นเวลาของการชาร์จด้วยไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์

ส่วนของแบตเตอรี่และคอนโทรลชาร์จเจอร์ ติดตั้งรวมกัน ลดระยะเดินสายไฟ ลดต้นทุน ลดการสูญเสียกระแสในระบบ

ผลการใช้งาน สามารถทำงานได้ดี ระบบมีความสมดุลแล้ว เปิดไฟทั้งคืนไฟแบตไม่หมด กลางวันสามารถชาร์จแบตได้เต็ม
แต่เมื่อได้ทดลองเพิ่มหลอดอีก ๑ ดวง ๑๐ วัตต์ ปรากฏว่าไฟแบตลดลงต่ำจนคอนโทรลชาร์จเจอร์ตัดการจ่ายไฟ

สรุป การใช้งานระบบ ๑๒ โวลต์กระแสตรงทำให้ไม่ต้องแปลงไฟเป็นไฟบ้าน ( ๒๒๐ โวลต์ กระแสสลับ) ลดต้นทุนค่าหม้อแปลง และไม่มีการสูญเสียไฟฟ้าในขั้นตอนการแปลงไฟ ประหยัดต้นทุนไปได้พอสมควร

ข้อเสนอแนะ ไฟ ๑๒ โวลต์กระแสตรง เป็นระบบเดียวกับในรถยนต์ ดังนั้น เราสามารถนำอุปกรณ์ไฟฟ้าของรถยนต์มาใช้ได้ เช่น ที่ชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ หรือพัดลม ๑๒ โวลต์

ต้นทุน
แผง ๑๕๐๐ บาท
คอนโทรลชาร์จ ๘๐๐ บาท
แบตเตอรี่ ๒๖๐๐ บาท
หลอดไฟ ๒ ดวง ๔๐๐ บาท
อุปกรณ์อื่นๆ ประมาณ ๓๐๐ บาท
รวม ๕๖๐๐ บาท
ราคานี้ซื้อจากร้านอมร ถ้าสะดวกเรื่องการเดินทางยังมีแหล่งอื่นๆ ที่ราคาถูกกว่า

โอกาสต่อไปจะมาแบ่งปันระบบที่ใหญ่ขึ้น ผลิดไฟฟ้าได้ ๗๐๐ วัตต์ต่อวัน ใช้งานทั้ง ๑๒ โวลต์กระแสตรง และ ๒๒๐ โวลต์กระแสสลับ

บุญรักษาทุกท่าน

Comments